EN | TH
15 พฤษภาคม 2545

บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร

บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร สำหรับผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 2545 หมายเหตุ:คำอธิบายและการวิเคราะห์งบการเงินฉบับนี้ ฝ่ายบริหารได้จัดทำขึ้นจากข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจถึงวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหาร ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท ได้ดีขึ้น อันเป็นการส่งเสริมโครงการการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก คำอธิบายและการวิเคราะห์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ฝ่ายบริหารมีอยู่ในปัจจุบัน และข้อมูลที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตในบท วิเคราะห์ฉบับนี้ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ที่ฝ่ายบริหารได้นำมาใช้เป็นสมมุติฐานของการอธิบายและการวิเคราะห์ครั้งนี้เท่านั้น ฉะนั้น ข้อมูลดังกล่าวจึงอาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยหรือสภาวะแวดล้อมในอนาคต บริษัทจึงใคร่ขอให้นักลงทุนใช้วิจารณญาณในการพิจารณาข้อมูลทั้งหลายด้วย และหากมี ข้อสงสัยประการใด กรุณาสอบถามได้ที่ ส่วนนักลงทุนสัมพันธ์และวิเคราะห์ธุรกิจ ฝ่ายการเงิน บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) โทร. 02-998-5157-8 หรือ email : ir@egco.com บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร 1. รายงานและวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ บผฟ. ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นเวลาครบ 10 ปี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2545 ที่ผ่านมา การจัดตั้ง บผฟ. นั้นเป็นไปตามนโยบายของ รัฐบาลโดยให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อลดภาระทางการเงินของภาครัฐ เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าต้องใช้เงินทุนมหาศาล และงบประมาณที่มีต้องจัดสรรเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย อีกทั้งเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประเทศจึงอยู่ในภาวะที่ มีความต้องการไฟฟ้าสูงและมีแนวโน้มว่ากำลังการผลิตในเวลานั้นมีปริมาณไม่เพียงพอกับประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต โครงสร้างบริษัทของ บผฟ. อยู่ในลักษณะโฮลดิ้ง (Holding Company) ที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจหลักโดยถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและ จำหน่ายกระแสไฟฟ้า และในบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายได้หลัก คือเงินปันผลจากบริษัทในเครือโดยรับรู้ในรูปของส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน ในบริษัทย่อย กิจการร่วมค้า และบริษัทร่วม การจัดโครงสร้างดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อได้รับความสะดวกในการขยายกิจการและการบริหารโครงการของบริษัทย่อย และการระดมเงินกู้สำหรับโครงการใหม่ได้โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อโครงการเก่า 1.1 การวิเคราะห์รายได้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2545 รายได้รวมของ บผฟ. บริษัทย่อย และกิจการร่วมค้า จำนวน 3,248 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2544 เพิ่มขึ้นจำนวน 395 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.85 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) รายได้ค่าไฟจากบริษัทย่อยหลัก คือ บฟร. และ บฟข. จำนวน 2,376 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสที่ 1 ของปีก่อน 220 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.19 โดยเป็นการ เพิ่มขึ้นจาก บฟข. 299 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ค่าไฟของ บฟร. ลดลง 82 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสูตรค่าพลังไฟฟ้า ในลักษณะ "Cost Plus" หรือต้นทุนบวกกำไรส่วนเพิ่มที่ให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และเป็นไปตามที่ได้ประมาณการไว้แล้ว สัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้กำหนดอัตราค่าไฟในแต่ละปี เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ ค่าใช้จ่ายเงินกู้ และ ค่าบำรุงรักษาหลัก และใช้อัตราดังกล่าวตามได้ตกลง เมื่อลงนามในสัญญาในการคำนวณค่าไฟในแต่ละงวด อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงเวลา รายได้ค่าไฟที่ได้รับอาจไม่สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่แสดงในงบการเงิน เนื่องจากมาตรฐานการบัญชีไทยกำหนดให้บันทึกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาหลักตามที่เกิดขึ้นจริง และตารางการซ่อมบำรุงรักษาอาจมีการปรับตามความเหมาะสม 2) ส่วนแบ่งรายได้ค่าไฟจากกิจการร่วมค้า คือ จีอีซี จำนวน 199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3 ล้านบาท และ โคแนล จำนวน 241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้ ในไตรมาสนี้ยังได้รับรู้ส่วนแบ่งรายได้เป็นครั้งแรกจาก เอพีบี จำนวน 57 ล้านบาท ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของ บรพ. ที่ได้มาจากการร่วมทุนกับยูโนแคลเมื่อปลายปี 2544 3) รายได้ค่าขายน้ำ จากบริษัทย่อยคือ เอ็กคอมธารา จำนวน 30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้เต็ม 3 เดือน ในขณะที่ไตรมาสแรกของปีที่แล้ว เริ่มจำหน่ายน้ำในเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแรก 4) รายได้ค่าบริการ จำนวน 73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการให้บริการบำรุงรักษาและเดินเครื่องของ เอสโก ให้กับบริษัท นอกเครือของ บผฟ. 5) รายได้จากดอกเบี้ยรับและรายได้อื่นๆ จำนวน 253 ล้านบาท ลดลง 30 ล้านบาท หรือร้อยละ 11 มาจากสาเหตุหลักดังนี้ - ดอกเบี้ยรับจากสถาบันการเงิน ลดลง 47 ล้านบาท เนื่องจากนำเงินสดไปลงทุนและชำระหนี้ - เงินปันผลรับ เพิ่มขึ้น 34 ล้านบาท จากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสวอเตอร์ และ กองทุนเปิดกรุงไทยธนสรร จำนวน 7 ล้านบาท และ 27 ล้านบาทตามลำดับ - อื่นๆ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2544 บผฟ. มีรายได้ที่เป็นรายการพิเศษจากการขายหุ้นของ ทีแอลพีโคเจน จำนวน 17 ล้านบาท 6) ส่วนแบ่งผลกำไรจากบริษัทร่วม จำนวน 18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน บผฟ. ได้รับส่วนแบ่งขาดทุน จำนวน 44 ล้านบาท อันเป็นผลจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 7) ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้ บผฟ. มีกำไรจำนวน 157 ล้านบาท (ค่าเงินบาทแข็งขึ้นจากงวดก่อนประมาณ 0.74 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สรอ.) ในขณะที่ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว บผฟ. มีผลขาดทุนจำนวน 283 ล้านบาท (ค่าเงินบาทอ่อนตัวจากงวดก่อนประมาณ 1.48 บาทต่อดอลล่าร์สรอ.) จึงทำให้เกิดผลแตกต่างมากเป็นจำนวนถึง 440 ล้านบาท กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวเลขทางบัญชี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากผลต่างของการแปลงค่าหนี้สินสุทธิที่เป็นเงินตราสกุล ต่างประเทศกลับมาเป็นเงินตราสกุลบาท ณ วันสิ้นสุดงวดของบัญชีปัจจุบัน (วันที่ 31มีนาคม 2545) กับงวดก่อนหน้านี้ (วันที่ 31 ธันวาคม 2544) อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณรายได้ค่าพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า ได้รับการปรับเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับภาระค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเงินที่เป็นสกุล ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าอะไหล่ที่ใช้ในการบำรุงรักษาหลัก ซึ่ง บฟร. และ บฟข. จะได้รับการชดเชยทุกเดือนตามงวดกำหนดชำระค่าไฟ โดยจะได้รับค่าพลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และได้รับค่าพลังไฟฟ้าลดลงเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ รายได้ส่วนที่ได้รับจากการชดเชยจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 31มีนาคม 2545 เป็นเงิน 340 ล้านบาท 1.2 การวิเคราะห์รายจ่าย ค่าใช้จ่ายรวมของ บผฟ. บริษัทย่อย และกิจการร่วมค้า ในไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2545 จำนวน 2,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 1 ล้านบาท เนื่องจาก สาเหตุดังต่อไปนี้ 1) ต้นทุนขาย จำนวน 1,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.88 สาเหตุหลักคือ ต้นทุนขายของ บฟร. และ บฟข. เพิ่มขึ้น 58 ล้านบาท และ 41 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าซ่อมบำรุงรักษาหลัก นอกจากนี้ยังมีตนทุนขายของ เอพีบี ซึ่งเริ่มรับรู้ในปี 2545 จำนวน 41 ล้านบาท อีกทั้งยังมีจาก ต้นทุนขายของ เอ็กคอมธารา ที่เพิ่มขึ้น 8 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสนี้รับรู้เต็ม 3 เดือน 2) ต้นทุนบริการ จำนวน 42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นของ เอสโก 3) ดอกเบี้ยจ่าย จำนวน 726 ล้านบาท ลดลง 142 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.36 สาเหตุของการลดลงมาจาก การลดลงของดอกเบี้ยจ่ายของ บผฟ. 41 ล้านบาท บฟร. 52 ล้านบาท บฟข. 24 ล้านบาท จีอีซี 12 ล้านบาท และโคแนล 23 ล้านบาท อันเป็นผลจากปัจจัยหลักคือ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง ยอดเงินต้นที่ลดลง และค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่นแข็งตัวขึ้นกว่างวดก่อน อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยจ่ายของ เอ็กคอมธารา และ เอพีบี ที่เพิ่งรับร เป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น 6 ล้านบาท และ 4 ล้านบาทตามลำดับ 4) ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและอื่นๆ จำนวน 232 ล้านบาท ลดลง 29 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.25 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ - ทีแอลพีโคเจน ลดลง 41 ล้านบาทจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2544 บผฟ. มีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมในการจัดหา เงินกู้ จำนวน 47 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2544 ค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ถูกปรับเป็นสินทรัพย์ และจะถูกตัดจำหน่ายตามอายุการใช้งาน - บริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าอื่นๆ ค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลงรวม 14 ล้านบาท - บผฟ. มีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น 26 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากผลขาดทุนจากการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า จำนวน 38 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดลง 12 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้านั้น เกิดจากการที่ บผฟ. ได้เตรียมไว้สำหรับการลงทุนเพิ่มสัดส่วนในจีอีซี (ซึ่งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก) ตามแผนการลงทุน แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวตามที่ประมาณการ และภาวะอุตสาหกรรมไม่เอื้ออำนวย ฉะนั้น เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการดังกล่าว รวมทั้งความจำเป็นในการรักษามูลค่าของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก จึงตัดสินใจไม่ลงทุนเพิ่มในโครงการดังกล่าว ประกอบกับภาวะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยังมีความผันผวน จึงได้ดำเนินการขายสัญญาดังกล่าวเพื่อให้ผล ขาดทุนต่ำสุด อย่างไรก็ตาม บผฟ. มีความเห็นว่าผลขาดทุนดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญ และขณะนี้ บผฟ. อยู่ในระหว่างการปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยงของกลุ่ม บผฟ. 1.3 การวิเคราะห์ผลขยายตัวของธุรกิจ ด้วยนโยบายของ บผฟ. ที่คำนึงถึงความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้น กลยุทธ์ที่จะขยายธุรกิจอย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมทางด้านการรักษา คุณภาพและเครดิตให้อยู่ในระดับที่ดี ในไตรมาสที่ผ่านมา บผฟ. จึงมิได้ลงทุนในโครงการใดๆ ใหม่ และรอโอกาสจากการสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจและมี ความเสี่ยงในระดับต่ำจากการลงทุนในโครงการที่มีคุณภาพ อาทิ การมีส่วนร่วมในทรัพย์สินของ กฟผ. ที่จะถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจรวมถึงโครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่า (Repowering) แม้ว่า รัฐบาลมีมติให้ กฟผ. เจรจากับเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่ บผฟ. มีสัดส่วนความเป็น เจ้าของ ร้อยละ 30 ผ่าน จีอีซี เพื่อชะลอโครงการออกไปนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการได้รับกระแสเงินสดช้ากว่าที่ประมาณการไว้ตามสมมุติฐานที่จะขายไฟเข้าระบบ เชิงพาณิชย์ในเดือน ตุลาคม 2547 อย่างไรก็ตาม หากการชะลอโครงการไม่เกิน 2 ปี บผฟ. เห็นว่าผลกระทบดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนการลงทุน และในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจพลิกฟื้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น บผฟ. ยังเล็งเห็นโอกาสในการขยายกำลังการผลิตที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือ การพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคต นอกจากนี้ บผฟ. มีแผนงานที่จะพัฒนาโครงการที่มีอยู่ให้เสร็จสมบูรณ์ โดยในปี 2546 บผฟ. จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการ ทีแอลพีโคเจน และร้อยเอ็ดกรีน ที่ม กำหนดขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือน มกราคม และ เมษายน ปี 2546 ตามลำดับ ส่วนในกรณีของ บฟร. และ บฟข. ที่เป็นบริษัทย่อยหลัก และ บผฟ. ได้รับ รายได้ส่วนใหญ่จาก 2 บริษัทนี้นั้น ในบางปีที่อัตราค่าไฟตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้กำหนดไว้เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาหลักใหญ่ (Major Overhaul) แต่ด้วยการจัดการด้านการซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและต้องบันทึกในงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีนั้น อาจต่ำกว่าที่ใช้ กำหนดในอัตราค่าไฟหรือรายได้ค่าไฟ ณ สิ้นไตรมาสแรก ของปี 2545 บผฟ. ยังคงมีกำลังการผลิตติดตั้งที่ได้ผูกพันและเป็นส่วนที่ บผฟ. เป็นเจ้าของ รวม 2,785 เมกะวัตต์ ดังเช่นปลายปี 2544 และยังคงตั้งเป้าหมายที่เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 5,000 เม็กกะวัตต์ ภายในปี 2548 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บผฟ. ครั้งที่ 1/2545 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 ได้มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานงวด 6 เดือนหลังของปี 2544 ในอัตรา หุ้นละ 1.25 บาท เมื่อรวมกับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลประกอบการใน 6 เดือนแรกของปี 2544 ฉะนั้น บผฟ. ได้จ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการ ในปีที่แล้ว จำนวนรวม 2.25 บาทต่อหุ้น เป็นไปตามนโยบายที่จะรักษากระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการจ่ายเงินปันผล ไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 2 บาท โดยไม่ส่งผลกระทบต่อ เงินลงทุนที่ต้องใช้ในโครงการที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารเงิน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท นอกเหนือไปจากการบริหารเงินสดที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 1.4 สรุปผลการดำเนินงาน กำไรสุทธิ สำหรับ 3 เดือนสิ้นสุด ณ ไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2545 เป็นจำนวน 1,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 806 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82.36 จากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน เป็นผลมาจากสาเหตุต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าไม่คำนึงถึงผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 157 ล้านบาท (ซึ่งเป็นผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้จำนวน 159 ล้านบาท) กำไรสุทธิ คิดเป็นจำนวน 1,092 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 366 ล้านบาท หรือร้อยละ 50.42 เมื่อพิจารณาจากผลกำไรสุทธิ อาจสรุปได้ว่า บผฟ. มีผลการดำเนินงานดีกว่าปีก่อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรายได้หลักของ บผฟ. ยังคงมาจาก 2 บริษัทย่อยหลัก คือ บฟร. และ บฟข. (ประมาณร้อยละ 77 ของรายได้รวม) ซึ่งมีสัญญาซื้อขายระยะยาวกับ กฟผ. นั้น ได้มีการกำหนดอัตราค่าไฟในที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลตอบแทนไว้แล้วเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนต่อเงินลงทุนในอัตราร้อยละ 20 และ 19 สำหรับ บฟร. และ บฟข. ตามลำดับ ตลอดอายุสัญญา ดังนั้นการ พิจารณาผลการดำเนินงานของบริษัทควรจะพิจารณาประกอบกับประมาณการ ทั้งนี้ กำไรสุทธิสำหรับไตรมาสแรกของปี 2545 เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ตาม บผฟ. ได้ดำเนินการนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทย่อย กิจการร่วมค้า และบริษัทร่วม มาบริหารและลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มผลตอบแทน ซึ่งสัดส่วนรายได้จาก บริษัทย่อยทั้งสอง ต่อรายได้รวม จะมีแนวโน้มลดลง เมื่อ บผฟ. ได้รับรู้รายได้จากการบริหารเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุนโครงการใหม่ๆ แล้ว อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ สำหรับงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2545 มีดังนี้ - อัตราส่วนกำไรสุทธิ (ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ต่อรายได้รวม เท่ากับร้อยละ 33.62 - อัตราผลตอบแทน (ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เท่ากับร้อยละ 5.52 - อัตราผลตอบแทน (ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) จากสินทรัพย์รวม เท่ากับร้อยละ 1.99 - กำไรสุทธิ (ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ต่อหุ้น เท่ากับ 2.38 บาท 2. รายงานและวิเคราะห์ฐานะการเงิน 2.1 การวิเคราะห์สินทรัพย์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545 บผฟ. บริษัทย่อย และกิจการร่วมค้า มีสินทรัพย์รวม จำนวน 54,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,975 ล้านบาทหรือร้อยละ 3.73 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2544 โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้ 1) เงินสด เงินฝากธนาคารและสถาบันการเงิน และหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จำนวน 6,297 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.46 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 488 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.41 เป็นผลจาก ได้รับกระแสเงินจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น เงินสดรับจากการจัดหาเงินจำนวน 362 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกเงินกู้ของ ทีแอลพีโคเจน จำนวน 483 ล้านบาท และ เอพีบี จำนวน 11 ล้านบาท พร้อมกับได้รับเงินปันผลจาก อีสวอเตอร์ กองทุนเปิดกรุงไทยธนสรรและการขายหลักทรัพย์ จำนวนรวม 118 ล้านบาท ในขณะที่กิจการร่วมค้า คือ จีอีซี และ โคแนล ได้มีการชำระหนี้ นอกจากนี้ ยังมีการนำเงินไปใช้ในกิจกรรมลงทุน โดยส่วนใหญ่เพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทีแอลพีโคเจน 2) เงินลงทุนระยะสั้นและระยะยาวที่ใช้เป็นหลักประกัน จำนวน 11,464 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.87 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 1,186 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.54 เพื่อกันเป็นเงินสำรองในการชำระหนี้ โดยบางส่วนเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สรอ. 3) เงินลงทุนในบริษัทร่วมและอื่นๆ เป็นจำนวน 1,334 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.43 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 62 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.87 ซึ่งเป็นการ เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการน้ำเทิน 2 จำนวน 44 ล้านบาท และได้รับส่วนแบ่งผลกำไรจาก เออีพี เอพีบี และอมตะ เอ็กโก เพาเวอร์ เซอร์วิส จำนวน 18 ล้านบาท 4) ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ จำนวน 29,067 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 112 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.39 เนื่องมาจากสาเหตุหลัก คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทีแอลพีโคเจน จำนวน 566 ล้านบาท ทรัพย์สินของ เอพีบี ที่ได้จากการร่วมทุนกับ ยูโนแคล ผ่าน บรพ. และการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีการตัดค่าเสื่อมราคา จำนวน 508 บาท ตัดจำหน่ายทรัพย์สินอื่นๆ 3 ล้านบาท และ ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินของบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ จำนวน 20 ล้านบาท 5) สินทรัพย์อื่นๆ จำนวน 6,778 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.34 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 126 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.90 เป็นส่วนใหญ่เป็นผลจาก - ลูกหนี้การค้า เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาท - เงินกู้ยืมที่ให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้น 8 ล้านบาท - ดอกเบี้ยค้างรับ ลดลง 83 ล้านบาท - วัสดุสำรองคลัง ลดลง 37 ล้านบาท - ค่านิยม ลดลง 19 ล้านบาท นอกจากนี้ ทรัพย์สินอื่นๆ ดังกล่าวมีส่วนประกอบหลักคือ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการและเงินทดรองจ่ายแก่บริษัทย่อยของ จีอีซี คือ กัลฟ์เพาเวอร์ จำนวน 304 ล้านบาท โดยโครงการนี้ได้ถูกชะลอออกไปตามมติของรัฐบาลให้ กฟผ. เจรจากับเจ้าของโครงการเกี่ยวกับการชะลอโครงการและผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บผฟ. มีความเชื่อมั่นว่า ผลกระทบดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนการลงทุนและมูลค่าของผู้ถือหุ้น ด้วยสมมุติฐานดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนประกอบหลักอื่น ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างการก่อสร้างของโครงการ ทีแอลพีโคเจน และร้อยเอ็ดกรีน จำนวน 135 ล้านบาทที่บันทึกเป็นสินทรัพย์ระยะ ยาวอื่นๆ และ ภาษีค้างรับของ บผฟ. จำนวน 102 ล้านบาท 2.2 การวิเคราะห์หนี้สิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545 บริษัทมีหนี้สินรวม จำนวน 34,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 831 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 สาเหตุหลักคือการเบิกเงินกู้ของ ทีแอลพีโคเจน และ เอพีบี ส่วนประกอบของหนี้สินรวม ได้แก่ 1) เงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ จำนวน 32,699 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดเป็นเงินตราสกุลต่างๆ ดังนี้ - เงินกู้สกุลดอลล่าร์สรอ. จำนวน 424 ล้านดอลล่าร์สรอ. - เงินกู้สกุลเยน จำนวน 69 ล้านเยน - เงินกู้สกุลเปโซ จำนวน 139 ล้านเปโซ - เงินกู้สกุลบาท จำนวน 2,151 ล้านบาท - หุ้นกู้ จำนวน 11,226 ล้านบาท 2) หนี้สินอื่นๆ จำนวน 1,912 ล้านบาท ได้แก่ ดอกเบี้ยค้างจ่าย เงินเบิกเกินบัญชี เจ้าหนี้การค้า ภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจ่าย เงินปันผลค้างจ่าย และอื่นๆ นอกจากนี้ บผฟ. มีการบริหารภาระผูกพันหนี้สินให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย บผฟ. ได้ตั้งบัญชีสำรองเพื่อภาระผูกพันในการชำระหนี้ไว้ในอัตราร้อยละ 25 ตามภาระค้ำประกันของ บผฟ. ที่มีอยู่กับบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อลดความเสี่ยงและสามารถนำเงินที่สำรองนี้มาบริหารให้ผลตอบแทนกลับมาในรูปดอกเบี้ยควบค กับความมั่นคงในการรับภาระค้ำประกันหรือภาระผูกพันดังกล่าว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545 บผฟ. ได้ฝากเงินเพื่อเป็นเงินสำรองไว้จำนวนร้อยละ 25 ตามภาระค้ำประกันของ บผฟ. ดังกล่าวเป็นจำนวน 188 ล้านบาท 2.3 การวิเคราะห์ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545 ส่วนของผู้ถือหุ้น (ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยและหักหุ้นที่ซื้อคืน) เป็นเงินจำนวน 19,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 1,258 ล้านบาท เนื่องจากปัจจัยหลักคือ บผฟ. มีกำไรในการดำเนินงานของไตรมาสแรกของปี 2545 จากการวิเคราะห์สินทรัพย์และหนี้สินข้างต้น สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของเงินทุน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545 ได้ดังนี้ ส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 20,329 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37 หนี้สิน จำนวน 34,611 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63 สามารถคำนวณหา อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2545 ได้ดังนี้ - อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เท่ากับ 1.70 เท่า ต่ำกว่าสิ้นปี 2544 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.76 เท่า - อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เท่ากับ 0.80 เท่า ต่ำกว่าสิ้นปี 2544 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.87 เท่า - มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สุทธิต่อหุ้น เท่ากับ 37.65 บาท สูงกว่ากว่าสิ้นปี 2544 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 35.26 บาท 3. รายงานและวิเคราะห์กระแสเงินสด งบกระแสเงินสดแสดงกระแสเงินสดที่เปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน ณ สิ้นงวดบัญชี และแสดงเงินสดและรายการเทียบเท่า คงเหลือสิ้นงวด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545 เงินสดและรายการเทียบเท่าคงเหลือ เป็นเงินจำนวน 4,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นงวด 467 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดของแหล่งที่มาและแหล่งที่ใช้ไปของเงินดังต่อไปนี้ - เงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน จำนวน 666 ล้านบาท เป็นผลจากกำไรสุทธิสำหรับงวดไตรมาสแรก ปรับด้วยรายการที่ไม่ใช่เงินสด และ รายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เช่น ค่าเสื่อมราคา กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้น กำไรจากการขายหลักทรัพย์ เงินปันผลรับ และส่วนของผู้ถือหุ้นน้อย และปรับด้วยการเปลี่ยนแปลงจากสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน - เงินสดสุทธิที่ใช้ไปในกิจกรรมลงทุน จำนวน 561 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ของบริษัทและบริษัทย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปในโครงการ ทีแอลพีโคเจน ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง - เงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมจัดหาเงิน จำนวน 362 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสแรกของปี 2545 แม้ว่าจะมีการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว จำนวน 168 ล้านบาท ซื้อหุ้นคืน จำนวน 4 ล้านบาท และจ่ายเงินปันผล จำนวน 2 ล้านบาท แต่มีการก่อหนี้เพิ่ม จำนวน 493 ล้านบาท จาก ทีแอลพีโคเจนและ เอพีบี โดยสรุป ณ สิ้นไตรมาสแรก ของ ปี 2545 บผฟ. มีเงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมดำเนินงานและได้มาจากกิจกรรมหาเงิน แต่ใช้เงินไปในกิจกรรมการลงทุนน้อยกว่า เงินสดที่ได้มา จึงทำให้เงินสดสิ้นงวดสุทธิเพิ่มขึ้นจากต้นงวด นอกจากนี้ บผฟ. สามารถบริหารเงินสดรวมถึงเงินทุนให้เพียงพอสำหรับกิจกรรมการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การซื้อหุ้นคืน การชำระหนี้และการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลควบคู่กับนโยบายการลงทุนอย่างระมัดระวังและการรักษา กระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยหุ้นละ 2 บาทเมื่อมีผลกำไรทางบัญชีในปี 2545 8