EN | TH
16 พฤษภาคม 2546

คำอธิบายงบการเงินไตรมาสที่ 1

Date : 16/05/2003 08:36 EGCOMP : คำอธิบายงบการเงินไตรมาสที่ 1 บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร สำหรับผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 2546 หมายเหตุ:คำอธิบายและการวิเคราะห์งบการเงินฉบับนี้ ฝ่ายบริหารได้จัดทำขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหาร ให้ผู้ลงทุนทั่วไป สามารถติดตามและทำความเข้าใจฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทได้ดีขึ้น อันเป็นการส่งเสริมโครงการการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) อย่างไรก็ตาม คำอธิบายและการวิเคราะห์ดังกล่าวขึ้นกับปัจจัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตในบทวิเคราะห์ฉบับนี้อาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัย หรือสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงขอให้นักลงทุนใช้วิจารณญาณในการพิจารณาใช้เอกสารข้อมูลนี้ และหากมีคำถาม หรือข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนนักลงทุนสัมพันธ์และวิเคราะห์ธุรกิจ ฝ่ายการเงิน บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) โทร. 02-998-5157-8 หรือ email : ir@egco.com บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร 1. รายงานและวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ บผฟ. เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) ที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าครบวงจรและครอบคลุมถึงธุรกิจที่ให้การบริการ ด้านพลังงาน โดยมีรายได้หลัก คือเงินปันผล และ ส่วนแบ่งรายได้และผลกำไรจากบริษัทย่อย กิจการร่วมค้า และบริษัทร่วม การจัดโครงสร้างดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อได้รับความสะดวกในการขยายกิจการ และเพิ่มความสามารถหรือยกระดับคุณภาพการบริหารในแต่ละโครงการของบริษัทย่อย และการระดมเงินกู้สำหรับโครงการใหม่ได้โดยไม่มี ผลกระทบใดๆ ต่อโครงการเก่า ดังนั้น ฝ่ายบริหารจึงขอแสดงรายงานเชิงวิเคราะห์จากงบการเงินรวมของ บผฟ. และบริษัทย่อย เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมที่ชัดเจนของผลการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้ 1.1 การวิเคราะห์รายได้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2546 รายได้รวมของ บผฟ. บริษัทย่อย กิจการร่วมค้า และส่วนแบ่งผลกำไรจากบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้า จำนวน 3,949 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง เวลาเดียวกันของปี 2545 เพิ่มขึ้นจำนวน 701 ล้านบาท หรือร้อยละ 22 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) รายได้ค่าไฟจากบริษัทย่อยหลัก คือ บฟร. และ บฟข. จำนวน 2,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ของปีก่อน จำนวน 137 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจาก บฟร. 358 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ค่าไฟของ บฟข. ลดลง 221 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสูตรค่าพลังไฟฟ้า ในลักษณะ "Cost Plus" หรือต้นทุนบวกกำไรส่วนเพิ่มที่ให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และเป็นไปตามที่ได้ประมาณการไว้แล้ว นอกจากนั้น ในการคำนวณรายได้ค่าพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า ได้รับการปรับเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับภาระค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเงินที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าอะไหล่ที่ใช้ในการบำรุงรักษาหลัก ซึ่ง บฟร. และ บฟข. จะได้รับการชดเชยทุกเดือนตามงวดกำหนดชำระค่าไฟ โดยจะได้รับค่าพลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าระดับ 28 บาทต่อหนึ่งเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และได้รับค่าพลังไฟฟ้าลดลงเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าระดับ 28 บาทต่อหนึ่งเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ รายได้ค่าไฟจากบริษัทย่อยหลักได้รวมส่วนค่าไฟที่ได้รับจากการชดเชยจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเงิน 282 ล้านบาท 2) ส่วนแบ่งรายได้ค่าไฟจากบริษัทย่อยอื่นและกิจการร่วมค้า จำนวน 1,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปีก่อน จำนวน 700 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 141 มีรายละเอียด จากกิจการร่วมค้าต่างๆดังนี้ บริษัทกัลฟ์ อิเล็คตริก (จีอีซี) จำนวน 645 ล้านบาท โคแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น(โคแนล) จำนวน 254 ล้านบาท บริษัท ทีแอลพี โคเจเนอเรชั่น (ทีแอลพี โคเจน) จำนวน 235 ล้านบาท และ บริษัท อมตะ เพาเวอร์ (บางปะกง) (เอพีบี) จำนวน 63 ล้านบาท ซึ่งส่วนแบ่งรายได้ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากรายได้ของ จีอีซี อันเนื่องมาจาก บริษัท หนองแค โคเจนเนอเรชั่น (เอ็นเคซีซี) และ บริษัท สมุทรปราการ โคเจนเนอเรชั่น (เอสซีซี) เริ่มรับรู้รายได้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 อีกทั้ง ทีแอลพี โคเจน ก็เริ่มรับรู้รายได้เป็นปีแรกหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2546 3) รายได้ค่าขายน้ำ จากบริษัทย่อยคือ เอ็กคอมธารา จำนวน 32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาท 4) รายได้ค่าบริการ จำนวน 40 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 39 ล้านบาท หรือร้อยละ 49 สาเหตุหลักคือในไตรมาสที่ 1 ของปี 2545 นั้น บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส (เอสโก) ได้รับรายได้เพิ่มจากรายได้ปกติจากการเจรจากับลูกค้า เนื่องจากการให้บริการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2544 ที่นอกเหนือจากขอบเขตของงานที่ตกลงกันไว้แต่แรก นอกจากนั้น มีบางส่วนเกิดจากการให้บริการที่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามตารางบำรุงรักษาและเดินเครื่อง 5) รายได้จากดอกเบี้ยรับและรายได้อื่นๆ จำนวน 160 ล้านบาท ลดลง 93 ล้านบาท หรือร้อยละ 37 สาเหตุหลักคือการลดลงของดอกเบี้ยรับสถาบันการเงิน และจากจำนวน เงินฝากที่ลดลงจากการชำระหนี้ของ บฟร. และ บฟข. 6) ส่วนแบ่งผลกำไรจากบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้า จำนวน 7 ล้านบาท ลดลง 11 ล้านบาท หรือร้อยละ 61 เนื่องจากส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการน้ำเทิน (Nam Theun 2 Electricity Consortium หรือ NTEC) จำนวน 11 ล้านบาท ถูกบันทึกในไตรมาส 1 ของปีนี้ 1.2 การวิเคราะห์รายจ่าย ค่าใช้จ่ายรวมของ บผฟ. บริษัทย่อย และกิจการร่วมค้า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2546 จำนวน 2,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 343 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 17 จากช่วงเวลา เดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 1) ต้นทุนขาย จำนวน 1,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 374 ล้านบาท หรือร้อยละ 35 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นของ จีอีซี จำนวน 357 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจาก เอ็นเคซีซี และ เอสซีซี ที่เริ่มรับรู้เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับรายได้ค่าไฟจากทั้ง 2 บริษัทที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนขายของ ทีแอลพี โคเจน เอพีบี และ โคแนล เพิ่มขึ้นรวม 209 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนขายของ บฟร. และ บฟข. ลดลง 140 ล้านบาท และ 54 ล้านบาท ตามลำดับ 2) ต้นทุนบริการ จำนวน 34 ล้านบาท ลดลง 8 ล้านบาท หรือร้อยละ 19 มีสาเหตุหลักมาจากการให้บริการบำรุงรักษาและเดินเครื่องของบริษัทที่ลดลงในไตรมาสแรกของปีนี้ และการที่ต้นทุนค่าบริการของบริษัทลดลงไม่สอดคล้องกับรายได้ค่าบริการนั้น เพราะต้นทุนส่วนใหญ่เกิดจากค่าพนักงานบำรุงรักษาและเดินเครื่องซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ อีกทั้งบริษัทได้รับ ค่าบริการจากการเจรจากับลูกค้า ซึ่งได้ให้บริการแล้วในไตรมาสที่ 4 ของปี 2544 จึงไม่เกิดต้นทุนค่าบริการในไตรมาสที่ 1 ของปี 2545 3) ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและอื่นๆ จำนวน 241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8 ล้านบาท หรือร้อยละ 3 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก ค่าใช้จ่ายในการบริหารของบริษัทย่อย และกิจการร่วมค้า เพิ่มขึ้นรวม 50 ล้านบาท ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการบริหารของ บผฟ. ลดลง 41 ล้านบาท จากไตรมาส 1 ของปี 2545 ที่มีผลขาดทุนจากการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า จำนวน 38 ล้านบาท 4) ดอกเบี้ยจ่าย จำนวน 695 ล้านบาท ลดลง 30 ล้านบาท หรือร้อยละ 4 สาเหตุของการลดลงมาจาก การลดลงของดอกเบี้ยจ่ายของ บผฟ. 17 ล้านบาท บฟร. 33 ล้านบาท บฟข. 24 ล้านบาท โคแนล 11 ล้านบาท และเอ็กคอมธารา 4 ล้านบาท อันเป็นผลจากปัจจัยหลักคือ ยอดเงินต้นที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ของ บผฟ. ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยจ่ายของ ทีแอลพี โคเจน และ จีอีซี เพิ่มขึ้นจำนวน 18 ล้านบาท และ 42 ล้านบาท ตามลำดับ ในส่วนหุ้นกู้ของ บผฟ. ในปี 2545 บริษัทได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวของเงินฝากประจำหกเดือนสกุลเงินบาทบวกด้วยอัตราคงที่ เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 6.95 ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 21 เมษายน 2545 และเมื่อเดือนมกราคม 2546 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลงมาก บริษัทจึงได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งกลับเป็นแบบลอยตัว ที่อัตราดอกเบี้ย LIBOR (6 เดือน) บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.85 ต่อปี สำหรับงวดแรก ซึ่งครบกำหนดวันที่ 21 เมษายน 2546 ที่ผ่านมา มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 6.30 ต่อปี 1.3 สรุปผลการดำเนินงาน กำไรสุทธิ สำหรับ 3 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2546 จำนวน 1,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 248 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผลมาจากสาเหตุต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และบริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 32 ล้านบาท ในขณะที่ในช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว บผฟ. มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 157 ล้านบาท กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวเลขทางบัญชี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากผลต่างของการแปลงมูลค่าหนี้คงค้างสุทธิเฉพาะที่เป็น เงินตราสกุลต่างประเทศกลับมาเป็นเงินตราสกุลบาท ณ วันสิ้นสุดงวดของบัญชีปัจจุบัน (วันที่ 31 มีนาคม 2546) กับงวดก่อนหน้านี้ (วันที่ 31 ธันวาคม 2545) หากไม่คำนึงถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 1,465 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 373 ล้านบาท หรือร้อยละ 34 โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นจาก บฟร. จีอีซี และ ทีแอลพี โคเจน ดังได้กล่าวข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างรายได้ของกลุ่มบผฟ. ในไตรมาส 1 ของปี 2546 มีการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทมีรายได หลักจากการขายไฟฟ้าของบริษัทย่อยหลัก คือ บฟร. และ บฟข. ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 73 ของรายได้รวม ในขณะที่ ในไตรมาสแรกของปีนี้ รายได้จากทั้ง 2 บริษัทย่อยหลัก มีสัดส่วนที่ลดลง เหลือเพียงร้อยละ 64 สาเหตุของโครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนไปนั้น มาจากส่วนแบ่งรายได้ค่าไฟของโรงไฟฟ้าหนองแค และโรงไฟฟ้าสมุทรปราการ ซึ่งเริ่มรับรู้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 16 ของรายได้รวม นอกจากนั้น ยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้า ทีแอลพี โคเจน หลังจากสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2546 คิดเป็นร้อยละ 6 ของรายได้รวม อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ มีดังนี้ - อัตราส่วนกำไรขั้นต้น เท่ากับร้อยละ 61 - อัตราส่วนกำไรสุทธิ (ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ต่อรายได้รวม เท่ากับร้อยละ 37 - กำไรสุทธิ (ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ต่อหุ้น เท่ากับ 2.79 บาท 1.4 การวิเคราะห์ผลขยายตัวของธุรกิจ บผฟ. ต้องการเพิ่มมูลค่าระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยเป็นการเลือกลงทุนอย่างรอบคอบในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจไฟฟ้า ดังนั้นบริษัทจึงตั้งใจที่จะจำหน่ายโครงการท ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจไฟฟ้า โดยมุ่งหวังที่จะนำเม็ดเงินที่ได้จากการขายโครงการนั้นๆ มาลงทุนในโครงการที่ดีและมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต้องการขยายการผลิต ในโครงการปัจจุบัน และลงทุนในโครงการ IPP ที่มีการซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของบริษัทที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานในภูมิภาคอาเซียน บผฟ. จึงมุ่งแสวงหาโครงการใหม่ๆที่อยู่ในประเทศเขตนั้น โดยได้มีการศึกษารายละเอียดของโครงการอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเหล่านั้น จะสามารถนำมาซึ่งผลตอบแทนที่คุ้มค่าคืนสู่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ บริษัทยังมีความตั้งใจที่จะพัฒนาและบริหารโครงการที่มีในปัจจุบันให้สำเร็จลุล่วง และสามารถนำมาซึ่งรายได้ให้แก่บริษัทโดยเร็วที่สุด ในปี 2546 นี้ ตามที่ บผฟ. ได้เสนอโครงการปรับปรุงและขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าขนอม (Repowering) ให้กับ กฟผ. เพื่อเพิ่มกำลังผลิตประมาณ 385.8 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีกำลังผลิตอยู่ที่ 824 เมกะวัตต์ สำหรับเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในเขตภาคใต้ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ไฟฟ้าในภาคใต้ระหว่างปี 2546 -2550 และการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น กฟผ.ได้นำโครงการปรับปรุงและขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าขนอม บรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. พ.ศ.2546-2559 (PDP 2003) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กระทรวงพลังงาน ในส่วนของนโยบายการจ่ายเงินปันผล บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นปีละ 2 ครั้ง ในอัตราประมาณร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา โดยสรุป บผฟ. มีนโยบายในการบริหารเงินทุนโดยคำนึงถึงมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัททั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหมายถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ จึงวางแผนการลงทุน อย่างระมัดระวัง พร้อมทั้งพัฒนาโครงการที่มีอยู่ให้เสร็จสมบูรณ์ และการรักษากระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่มีคุณภาพเท่านั้น 2. รายงานและวิเคราะห์ฐานะการเงิน 2.1 การวิเคราะห์สินทรัพย์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2546 บผฟ. บริษัทย่อย บริษัทร่วมและกิจการร่วมค้า มีสินทรัพย์รวม จำนวน 58,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,756 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2545 โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้ 1) เงินสด เงินฝากธนาคารและสถาบันการเงิน และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จำนวน 6,068 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 566 ล้านบาท หรือร้อยละ 10 ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมจัดหาเงิน โดยเป็นการเบิกเงินกู้เพิ่มของ ทีแอลพี โคเจน และ ร้อยเอ็ด กรีน และ Refinance โครงการเอ็นเคซีซี และโครงการเอสซีซี 2) เงินลงทุนระยะสั้นและระยะยาวที่ใช้เป็นหลักประกัน จำนวน 11,688 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 1,277 ล้านบาท หรือร้อยละ 12 เพื่อกันเป็นเงินสำรองในการชำระหนี้ โดยบางส่วนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 135 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ 3) เงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมและส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้า จำนวน 831 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 8 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 ซึ่งเป็นส่วนแบ่งผลกำไรจาก เออีพี และ อมตะ เพาเวอร์-เอสโก เซอร์วิส 4) ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ จำนวน 31,854 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ของสินทรัพย์รวม ลดลง 180 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 เนื่องมาจากสาเหตุหลัก จากการตัดค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน บผฟ. และบริษัทย่อยอื่นๆที่อยู่ระหว่างงวดจำนวน 574 ล้านบาท และตัดจำหน่ายทรัพย์สินของ บผฟ. บฟร. และ บฟข. รวม 40 ล้านบาท ในขณะที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มของ ทีแอลพี โคเจน และ โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน จำนวน 326 ล้านบาท และ 74 ล้านบาท ตามลำดับ 5) สินทรัพย์อื่นๆ จำนวน 8,187 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 1,083 ล้านบาท หรือร้อยละ 15 เป็นการเพิ่มของสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นผล จากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้า จำนวน 101 ล้านบาท ลูกหนี้การค้าที่เกี่ยวข้องกัน (ส่วนใหญ่คือ กฟผ.) จำนวน 655 ล้านบาท และ วัสดุสำรองคลัง จำนวน 115 ล้านบาท 2.2 การวิเคราะห์หนี้สิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2546 บริษัทมีหนี้สินรวม จำนวน 36,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,378 ล้านบาท หรือร้อยละ 4 เนื่องจากหนี้สินในส่วนของจีอีซี (สำหรับโรงไฟฟ้าหนองแค และ โรงไฟฟ้าสมุทรปราการ) และการเบิกเงินกู้เพิ่มสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทีแอลพี โคเจน และ โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน ส่วนประกอบของหนี้สินรวม ได้แก่ 1) เงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ จำนวน 33,121 ล้านบาท หรือร้อยละ 56 ของสินทรัพย์รวม ซึ่งเพิ่มขึ้น 677 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดเป็นเงินตราสกุลต่างๆ ดังนี้ - เงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 464 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ - เงินกู้สกุลเยน จำนวน 778 ล้านเยน - เงินกู้สกุลเปโซ จำนวน 126 ล้านเปโซ - เงินกู้สกุลบาท จำนวน 4,193 ล้านบาท - หุ้นกู้ จำนวน 9,681 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ของปี 2546 บริษัทมีเงินกู้สกุลเยนเพิ่มขึ้น 133 ล้านบาท มาจากการเบิกเงินกู้ในการสร้างโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน และ ทีแอลพี โคเจน ในขณะที่เงินกู้สกุลบาทลดลง และเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น จากการทำ Refinance เงินกู้ยืมสกุลบาทของจีอีซี สำหรับโรงไฟฟ้าหนองแค และโรงไฟฟ้าสมุทรปราการ 2) หนี้สินอื่นๆ จำนวน 3,182 ล้านบาท ส่วนใหญ่ได้แก่ ดอกเบี้ยค้างจ่าย เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ระยะสั้น เจ้าหนี้การค้า ภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจ่าย เงินปันผลค้างจ่าย และ เงินกู้ยืมระยะยาวจากผู้ถือหุ้นอื่นของ จีอีซี บผฟ. มีการบริหารภาระผูกพันหนี้สินให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย บผฟ. ได้ตั้งบัญชีสำรองเพื่อภาระผูกพันในการ ชำระหนี้ไว้ในอัตราร้อยละ 25 ของภาระค้ำประกันของ บผฟ. ที่มีอยู่กับบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อลดความเสี่ยงและสามารถนำเงินที่สำรองนี้มาบริหารให้ผลตอบแทนกลับมา ในรูปดอกเบี้ยควบคู่กับความมั่นคงในการรับภาระค้ำประกันหรือภาระผูกพันดังกล่าว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2546 บผฟ. ได้ฝากเงินเพื่อเป็นเงินสำรองไว้จำนวนร้อยละ 25 ตามภาระค้ำประกันของ บผฟ. ดังกล่าวเป็นจำนวน 400 ล้านบาท และมีส่วนที่ต้องสำรองเพิ่มอีกซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 90 ล้านบาท 2.3 การวิเคราะห์ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2546 ส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย(ส่วนของสินทรัพย์สุทธิของบริษัทย่อยที่ไม่ใช่ส่วนของบผฟ.ทั้งทางตรงและทางอ้อม) และไม่รวมหุ้นที่ซื้อคืนแล้ว เป็นเงินจำนวน 21,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 1,485 ล้านบาท เนื่องจากปัจจัยหลักคือ บผฟ. มีกำไรจากผลการดำเนินงาน จากการวิเคราะห์สินทรัพย์และหนี้สินข้างต้น สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของเงินทุน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2546 ได้ดังนี้ ส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 22,325 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38 หนี้สิน จำนวน 36,303 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62 สามารถคำนวณหา อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ ได้ดังนี้ - อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เท่ากับ 1.63 เท่า ต่ำกว่าสิ้นปี 2545 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.67 เท่า - มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สุทธิต่อหุ้น เท่ากับ 42.49 บาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2545 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.87 บาท 3. รายงานและวิเคราะห์กระแสเงินสด งบกระแสเงินสดแสดงกระแสเงินสดที่เปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน ณ สิ้นงวดบัญชี และแสดงเงินสดและรายการเทียบเท่าคงเหลือ สิ้นงวด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2546 เงินสดและรายการเทียบเท่าคงเหลือ เป็นเงินจำนวน 2,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นงวด 313 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดของแหล่งที่มาและแหล่งที่ใช้ไปของเงินดังต่อไปนี้ - เงินสดสุทธิที่ใช้ไปจากกิจกรรมดำเนินงาน จำนวน 37 ล้านบาท เป็นผลจากกำไรสุทธิ ปรับด้วยรายการที่ไม่ใช่เงินสด และรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน โดยบริษัทมีเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน เพิ่มขึ้น 2,074 ล้านบาท และมีการเปลี่ยนแปลงกระแสเงินทุนหมุนเวียนลดลง 2,111 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในสถาบันการเงินเพื่อใช้สำหรับเป็นหลักประกันในการเบิกเงินกู้ จำนวน 1,334 ล้านบาท และการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้า และลูกหนี้การค้ากิจการที่เกี่ยวข้องกันจำนวน 741 ล้านบาท จากการขายไฟของ บฟร. บฟข. และ ทีแอลพี โคเจน ซึ่งมีลูกค้ารายใหญ่ คือ กฟผ. - เงินสดสุทธิที่ใช้ไปในกิจกรรมลงทุน จำนวน 402 ล้านบาท โดย 238 ล้านบาท เป็นเงินสดใช้ไปในการลงทุนระยะสั้นและระยะยาว การลงทุนเพิ่มในการสร้าง โรงไฟฟ้าทีแอลพี โคเจน และ โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน จำนวน 144 ล้านบาทและ 67 ล้านบาท ตามลำดับ และลงทุนในการซื้อสินทรัพย์อื่นสุทธิ 28 ล้านบาท ในขณะที่ ได้รับเงินปันผลจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก และ กองทุนเปิดกรุงไทยธนสรร จำนวน 36 ล้านบาท และ 32 ล้านบาท ตามลำดับ - เงินสดสุทธิที่ไดัรับจากกิจกรรมจัดหาเงิน จำนวน 752 ล้านบาท เนื่องจากสาเหตุหลักคือ การเบิกเงินกู้เพิ่มของ ทีแอลพี โคเจน 202 ล้านบาท และ ร้อยเอ็ด กรีน 48 ล้านบาท และการทำปรับสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินของ จีอีซี ในโครงการเอ็นเคซีซี และ โครงการเอสซีซี ทำให้โดยสุทธิมีเงินกู้เพิ่มอีกจำนวน 515 ล้านบาท 1