19 กุมภาพันธ์ 2551
บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร ประจำปี 2550
บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร
สำหรับผลการดำเนินงาน ประจำปี 2550
สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550
หมายเหตุ: บทรายงานและการวิเคราะห์งบการเงินฉบับนี้ ฝ่ายบริหารได้จัดทำขึ้นเพื่อนำ
เสนอข้อมูลและแสดงวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหารให้ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถติดตามและทำความเข้าใจ
ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทได้ดีขึ้น อันเป็นการส่งเสริมโครงการการกำกับดูแล
กิจการที่ดีของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
อนึ่งเนื่องจากบทรายงานและการวิเคราะห์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอข้อมูล
และคำอธิบายถึงสถานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่นำเสนอ
นี้อาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยหรือสภาวะแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ฉะนั้นจึงใคร่ขอให้
นักลงทุนใช้วิจารณญาณในการพิจารณาใช้ประโยชน์จากเอกสารข้อมูลนี้ และหากมีคำถามหรือข้อสงสัย
ประการใดกรุณาติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
โทร. 02-998-5145-7 หรือ email : ir@egco.com
บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร
1. บทสรุปผู้บริหาร
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ บผฟ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระเอกชน
(Independent Power Producer) ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมจำนวน 3,509
เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และเล็กรวมทั้งสิ้น 14 โรง โดยกลุ่ม บผฟ. มีเหตุการณ์สำคัญ
ที่เกิดขึ้นในปี 2550 ดังนี้
- เริ่มรับรู้ส่วนแบ่งผลกำไรจากกิจการร่วมค้าบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (บีแอลซีพี)
กำลังการผลิต 1,434 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 ตั้งแต่ มกราคม 2550 เป็นต้นไป
- โครงการขยายกำลังผลิตที่ อมตะ เพาเวอร์ บางปะกง (เอพีบีพี) กำลังการผลิต 55
เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชนิดพลังงานความร้อนร่วม ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์
แล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550
- โครงการแก่งคอย 2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชนิดพลังความร้อนร่วมของกิจการร่วมค้าบริษัท
กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด (จีพีจี) ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงที่ 1 กำลังผลิต
734 เมกะวัตต์ เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่ม บผฟ. ในปี 2550 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550
มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 8,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,386 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปี
2549 ทั้งนี้หากไม่คำนึงถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับ บผฟ. และบริษัทย่อยแล้ว ในปี
2550 บริษัทจะมีกำไรจำนวน 8,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 จำนวน 2,982 ล้านบาท หรือ
คิดเป็นร้อยละ 56 โดยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก
- บผฟ. มีขาดทุนเพิ่มขึ้น 289 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 394 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่าย
ในการบริหารและดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้ยืมระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น
- กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระเอกชน (ไอพีพี) คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าระยอง จำกัด (บฟร.)
บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด (บฟข.) บีแอลซีพี และ จีพีจี มีกำไรสุทธิของกลุ่มเท่ากับ
7,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,869 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้ผลการดำเนินงาน ของ บีแอลซีพี
ตั้งแต่เดือน มกราคม 2550 และการรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการแก่งคอย 2 ที่เริ่มเดิน
เครื่องเชิงพาณิชย์โรงที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550
- กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) ประกอบด้วย 3 กิจการร่วมค้า คือ บริษัท
กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด (มหาชน) (จีอีซี) (ไม่รวม จีพีจี) บริษัท อมตะ-เอ็กโก เพาเวอร์ จำกัด
(เออีพี) บริษัท อมตะ เพาเวอร์ (บางปะกง) จำกัด (เอพีบีพี) และ 2 บริษัทย่อย คือ
บริษัท เอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (เอ็กโก โคเจน) และ บริษัท ร้อยเอ็ด กรีน จำกัด
(ร้อยเอ็ด กรีน) มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 882 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 446 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่มาจากกำไรสุทธิของ จีอีซี ที่เพิ่มขึ้น จากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
- กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าต่างประเทศ ประกอบด้วย 2 กิจการร่วมค้า คือ บริษัท โคแนล
โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (โคแนล) และ โครงการน้ำเทิน 2 (เอ็นทีพีซี) มีขาดทุนเพิ่มขึ้น 40
ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิรวม 197 ล้านบาท สาเหตุหลักเนื่องจากโคแนลมีส่วนแบ่ง
ผลกำไรจำนวน 53 ล้านบาท ลดลง 65 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ค่าไฟที่ลดลงจากการโอน
โรงไฟฟ้าของ บริษัท นอร์ธเทิร์น มินดาเนา เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (เอ็นเอ็มพีซี) ให้กับ
National Power Corporation (เอ็นพีซี) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และค่าเงินเปโซ
ที่แข็งค่าขึ้น ในขณะที่ส่วนแบ่งผลขาดทุนจาก เอ็นทีพีซี ลดลงจำนวน 25 ล้านบาท เนื่องจาก
ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง
- กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ประกอบด้วย 2 บริษัทย่อย คือ บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์
เซอร์วิส จำกัด (เอสโก) บริษัท เอ็กคอมธารา จำกัด (เอ็กคอมธารา) และกิจการร่วมค้า
บริษัท อมตะ เพาเวอร์-เอสโก เซอร์วิส จำกัด (อเมสโก) มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 255 ล้านบาท
ลดลง 4 ล้านบาท สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเอสโกลดลง 17 ล้านบาท จากรายได้
ค่าบริการที่ลดลง ในขณะที่กำไรสุทธิจากเอ็กคอมธาราเพิ่มขึ้น 13 ล้านบาท จากรายได้
ค่าขายน้ำที่เพิ่มขึ้น
2. การวิเคราะห์ผลการปฏิบัติตามแผนการดำเนินธุรกิจ
บผฟ. เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่แห่งแรกของประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ
วันที่ 12 พฤษภาคม 2535 ในลักษณะบริษัทโฮลดิ้ง ที่มีการลงทุนในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม
ต่างๆ บผฟ. ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า ?เป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ครบวงจรและครอบคลุมถึงธุรกิจการให้บริการด้านพลังงานทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม?
บผฟ.ดำเนินธุรกิจหลักในการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ทั้งใน
ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยมีเป้าหมายในการจัดหา
ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยการบริหารจัดการโครงการที่มีอยู่ปัจจุบัน
ตลอดจนการสรรหาโครงการที่มีคุณภาพและให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต และอยู่ในระดับ
ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้
ณ เดือนธันวาคม 2550 ประเทศไทยมีกำลังผลิตติดตั้งรวมจำนวน 28,250.25
เมกะวัตต์ /1 ซึ่งประมาณร้อยละ 12.42 ของกำลังผลิตนี้มาจากกำลังผลิตในกลุ่ม บผฟ.
โดยในปี 2550 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้น ณ วันที่ 24 เมษายน 2550 ที่
22,586.1 เมกะวัตต์ /1 คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 7.23 เมื่อเทียบกับความต้องการ
พลังไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมของปี 2549
/1 ทีมา กฟผ.
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 กระทรวงพลังงานได้ประกาศรายชื่อบริษัท
ที่ผ่านการคัดเลือกด้านเทคนิคเบื้องต้นของการประมูล IPP โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบแรก
จำนวน 17 ราย จากผู้ยื่นซองประกวดทั้งหมด 20 ราย โดย บผฟ. ผ่านการพิจารณา
ทางเทคนิคทั้ง 3 โรงไฟฟ้าที่ยื่นประกวด และในวันที่ 7 ธันวาคม 2550 กระทรวงพลังงาน
ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล IPP รอบที่สอง (ด้านราคา) มีทั้งสิ้น 4 โครงการ
กำลังผลิตรวม 4,400 เมกะวัตต์ (เข้าระบบปี 2555-2557) เพิ่มจากเดิมที่จะรับซื้อ
3,200 เมกะวัตต์ โดยที่ บผฟ. ไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่สองนี้
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ บผฟ. ได้ปรับกลยุทธ์ในการขยายการลงทุน
ไปยังโรงไฟฟ้าต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีการขายไฟกลับเข้ามา
ยังประเทศไทย เช่น โครงการโรงไฟฟ้าในประเทศลาว พม่า และกัมพูชา ตลอดจนลงทุน
โครงการอื่น ๆ ภายในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง และพลังงานหมุนเวียน
เช่น พลังงานลม พลังงานขยะ และพลังงานชีวมวล
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 บผฟ. มีกำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น
รวมจำนวน 3,509 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า 14 โรง โดยกำลังการผลิตติดตั้งส่วนใหญ่
มาจากโรงไฟฟ้าของ บฟร. กำลังผลิตติดตั้ง 1,232 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าของ บฟข.
กำลังผลิตติดตั้ง 824 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้ก๊าซธรรมชาติเป็น
เชื้อเพลิงหลัก โดยกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งสอง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59
ของกำลังผลิตติดตั้งรวมของ บผฟ.
นอกจากนี้ บผฟ. มีกำลังการผลิตติดตั้งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี
กำลังการผลิต 1,434 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 โดยคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของ บผฟ.
จำนวน 717 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตติดตั้งรวมของ บผฟ. โครงการดังกล่าว
ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยใช้ถ่านหินคุณภาพดีนำเข้ามาจากประเทศ
ออสเตรเลียเป็นเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ยังมีโครงการแก่งคอย 2 โรงที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่เพิ่งแล้วเสร็จและ
เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งในส่วนการถือหุ้น
ของ บผฟ. จำนวนรวม 367 เมกะวัตต์ (บผฟ. ถือหุ้นร้อยละ 50 ในจีอีซี ซึ่งถือหุ้นในบริษัท
ที่ดูแลโครงการคือ จีพีจี ร้อยละ 99.99) ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี กำลังผลิตรวม 1,468 เมกะวัตต์
โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก
นอกเหนือจากนั้น บริษัทกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอีก 2 โครงการ ซึ่งคิดเป็น
กำลังการผลิตติดตั้งในส่วนการถือหุ้นของ บผฟ. จำนวนรวม 635 เมกะวัตต์ ได้แก่
1. โครงการแก่งคอย 2 โรงที่ 2 กำลังผลิต 734 เมกะวัตต์ โครงการนี้มีกำหนด
เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 มีนาคม 2551 ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้าง
โครงการแล้วเสร็จไปประมาณร้อยละ 99.5 และ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 กฟผ.
ได้อนุมัติการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โรงที่ 2 ก่อนวันเดินเครื่อง
เชิงพาณิชย์จริง เมื่อ จีพีจี ได้ดำเนินการทดสอบโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ
2. โครงการน้ำเทิน 2 (บผฟ. ถือหุ้นร้อยละ 25 ในเอ็นทีพีซี ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ)
ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
มีกำลังผลิต 1,070 เมกะวัตต์ และกำหนดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเดือนธันวาคม
ปี 2552 โดยมีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. จำนวน 995 เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้า
ส่วนที่เหลือให้กับรัฐบาลลาว ความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการ ณ สิ้นปี 2550
อยู่ที่ประมาณร้อยละ 78
ในส่วนนโยบายการจ่ายเงินปันผลนั้น บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น
ในอัตราร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิงบการเงินรวมหลังหักภาษีเงินได้ หรือ ในจำนวนที่
ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ หากไม่มีเหตุจำเป็นอื่นใด เช่น การขยายธุรกิจของบริษัท
ในโครงการต่าง ๆ ในอนาคต หรือการจ่ายเงินปันผลที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานปกติ
ของบริษัทอย่างมีสาระสำคัญโดยการจ่ายเงินปันผลต้องไม่เกินกว่ากำไรสะสมของงบการเงิน
เฉพาะกิจการ
3. นโยบายการบัญชี
เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 กลุ่มบริษัทได้มีการถือปฏิบัติและเปลี่ยนแปลงนโยบาย
การบัญชี 3 รายการดังนี้
1.ร่างมาตรฐานการบัญชีไทย เรื่องผลประโยชน์ของพนักงาน
ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีได้จัดทำร่างมาตรฐานการบัญชีไทยเกี่ยวกับการบัญชีสำหรับ
ผลประโยชน์พนักงาน ซึ่งร่างมาตรฐานการบัญชีไทยฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาสาระไม่แตกต่างจาก
มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 19 เรื่องผลประโยชน์ของพนักงาน ซึ่งคาดว่าทางสภา
วิชาชีพบัญชีจะประกาศให้ร่างมาตรฐานการบัญชีไทยฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในปี
พ.ศ. 2552 คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นชอบให้กลุ่มบริษัทนำร่างมาตรฐาน
การบัญชีฉบับดังกล่าวมาถือปฏิบัติก่อนกำหนด โดยกลุ่มบริษัทได้นำร่างมาตรฐานการบัญชีไทย
ฉบับดังกล่าวมาถือปฏิบัติสำหรับรอบปีบัญชี 2550 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้งบการเงินของ
กลุ่มบริษัทแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินที่แท้จริง รวมทั้งสะท้อนภาระหนี้สินและค่าใช้จ่าย
ที่เกิดจากผลประโยชน์ของพนักงานที่กลุ่มบริษัทมีภาระผูกพันในปัจจุบัน โดยภาระผูกพันดังกล่าว
เกี่ยวเนื่องมาจากการให้บริการของพนักงาน
กลุ่มบริษัทได้เริ่มใช้นโยบายการบัญชีเกี่ยวกับผลประโยชน์พนักงานตามแนวทางปฏิบัติ
ของร่างมาตรฐานการบัญชีไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์พนักงานหลังการเลิกจ้าง
หรือเกษียณอายุ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 โดยกลุ่มบริษัทใช้วิธีปรับย้อนหลังสำหรับ
การนำนโยบายการบัญชีมาใช้ กล่าวคือได้ทำการปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากผลประโยชน์
ของพนักงานอันเนื่องมาจากการให้บริการของพนักงานในอดีตกับกำไรสะสมต้นงวด และรับรู้
ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากผลประโยชน์ของพนักงานอันเนื่องมาจากการให้บริการของพนักงานในงวด
ปีปัจจุบันในงบกำไรขาดทุนของงวดนั้น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่มีต่องบดุลรวม
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 และงบกำไรขาดทุนรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549
มีดังต่อไปนี้
งบดุลรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 หน่วย : ล้านบาท
ภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานหลังการเลิกจ้างหรือเกษียณอายุ เพิ่มขึ้น (116)
ส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้า ลดลง (2)
หนี้สินสุทธิในกิจการร่วมค้า เพิ่มขึ้น (3)
กำไรสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 ลดลง (121)
งบกำไรขาดทุนรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549 หน่วย : ล้านบาท
กำไรสุทธิ ลดลง (20)
กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานลดลง (บาท) (0.03)
2. มาตรฐานการบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วม และส่วนได้เสียในกิจการ
ร่วมค้าในงบการเงินเฉพาะกิจการ
ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชีลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ได้มีการแก้ไข
มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 44 เรื่องงบการเงินรวมและ งบการเงินเฉพาะกิจการและฉบับที่ 45
เรื่องเงินลงทุนในบริษัทร่วม โดยกำหนดให้เปลี่ยนวิธีการบัญชีจากวิธีส่วนได้เสียเป็นวิธีราคาทุน
สำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้าที่แสดงไว้ในงบการเงินเฉพาะบริษัท
ตามวิธีราคาทุนรายได้จากเงินลงทุนจะรับรู้เมื่อมีการประกาศจ่ายเงินปันผล ประกาศดังกล่าว
มีผลบังคับใช้กับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2550
เป็นต้นไป ทั้งนี้กลุ่มบริษัทได้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกันสำหรับส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าที่แสดง
ในงบการเงินเฉพาะกิจการ โดยกลุ่มบริษัทเริ่มใช้วิธีราคาทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 และ
ได้ปรับปรุงงบการเงินที่แสดงเปรียบเทียบย้อนหลังด้วย
จากการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกบัญชีดังกล่าวทำให้กำไรสุทธิในงบการเงินเฉพาะ
กิจการไม่เท่ากับกำไรสุทธิในงบการเงินรวม โดยในปี 2550 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550
งบการเงินรวมมีกำไรสุทธิจำนวน 8,402 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.96 บาทต่อหุ้น งบการเงินเฉพาะ
มีกำไรสุทธิ 8,584 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.31 บาทต่อหุ้น ผลแตกต่างของกำไรสุทธิจาก
งบการเงินทั้งสองดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกบัญชีเงินลงทุน
ในบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าในงบการเงินเฉพาะ โดยที่กำไรสุทธิในงบการเงินรวมได้รวม
ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนการถือหุ้น ในขณะที่กำไรสุทธิ
ในงบการเงินเฉพาะจะรับรู้เฉพาะผลการดำเนินงานของ บผฟ. และรับรู้รายได้จากการลงทุน
ในบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าก็ต่อเมื่อบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าประกาศจ่ายเงินปันผล
เท่านั้น ในกรณีนี้ บผฟ. มีขาดทุนจากการดำเนินงาน 31 ล้านบาท และ บริษัทย่อยและ
กิจการร่วมค้าได้ประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับ บผฟ. จำนวน 8,615 ล้านบาท
นอกจากนั้นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่มีต่องบดุลเฉพาะกิจการ
งวดสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 เป็นดังนี้
หน่วย:ล้านบาท
เงินลงทุนในบริษัทย่อย ลดลง (4,033)
ส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้า สุทธิ ลดลง (280)
หนี้สินสุทธิในกิจการร่วมค้า ลดลง (620)
หนี้สินอื่นลดลง (911)
ผลกระทบจากการแปลงค่างบการเงินของบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 14
กำไรสะสม ลดลง (2,796)
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีดังกล่าวส่งผลต่อการแสดงรายการบัญชี
ที่เกี่ยวข้องกับเงินลงทุนในบริษัทย่อยและส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าในงบการเงินเฉพาะ
กิจการเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อการจัดทำงบการเงินรวมแต่อย่างใด
3. มาตรฐานการบัญชีสำหรับการบันทึกส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าในงบการเงินรวม
เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 กลุ่มบริษัทได้เปลี่ยนนโยบายการบัญชีสำหรับ
การบันทึกส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าในงบการเงินรวมจากวิธีรวมตามสัดส่วนเป็นวิธีส่วนได้เสีย
เนื่องจากกลุ่มบริษัทพิจารณาและเห็นว่าการบันทึกส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าโดยวิธีส่วนได้เสีย
ในงบการเงินรวมจะสะท้อนถึงลักษณะธุรกิจของกลุ่มบริษัทได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ผู้ใช้
งบการเงินเข้าใจถึงลักษณะและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ส่วนได้เสียใน
กิจการร่วมค้าของกลุ่มบริษัทส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่
ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ดังนั้นเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากการกู้ยืม ซึ่งโดยปกติแล้วเงินกู้ยืมของ
กิจการร่วมค้าจะค้ำประกันโดยสินทรัพย์ของกิจการร่วมค้าเองและไม่มีผลผูกพันต่อผู้ร่วมทุน
กลุ่มบริษัทใช้วิธีปรับย้อนหลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีดังกล่าว
ทั้งนี้ งบดุลรวม ณ 31 ธันวาคม 2549 และงบกำไรขาดทุนรวมประจำปี 2549 สิ้นสุด
31 ธันวาคม 2549 ได้มีการปรับใหม่เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ และผลจากการเปลี่ยนแปลง
นโยบายดังกล่าวทำให้ กลุ่ม บผฟ. รับรู้ส่วนได้เสียจาก กิจการร่วมค้า 7 บริษัท คือ บีแอลซีพี
จีอีซี เอพีบีพี เออีพี โคแนล เอ็นทีพีซี และอเมสโก
4. รายงานและวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน
โครงสร้างการดำเนินธุรกิจ ของ บผฟ. อยู่ในรูปของบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อให้แต่ละบริษัท
ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้อย่างอิสระต่อกัน โดย บผฟ. มีรายได้หลัก
คือเงินปันผลที่มาจากกำไรของบริษัทย่อย บริษัทร่วม และส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้า การจัด
โครงสร้างดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อได้รับความสะดวกในการขยายกิจการ และเพิ่มความสามารถ
ในการระดมเงินกู้สำหรับโครงการใหม่ โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อโครงการเก่า
ฝ่ายบริหารขอแสดงรายงานวิเคราะห์งบการเงินรวมของ บผฟ. บริษัทย่อย และ
ส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้า เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมที่ชัดเจนของผลการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
4.1 สรุปผลการดำเนินงาน
กำไรสุทธิของกลุ่ม บผฟ. ประจำปี 2550 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550
มีจำนวนทั้งสิ้น 8,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,386 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับปี
2549 สาเหตุหลักมาจากส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าที่เพิ่มขึ้น 5,134 ล้านบาท ส่วนใหญ่
มาจาก บีแอลซีพี จีพีจี และจีอีซี
สำหรับกำไรขั้นต้นมีจำนวนเท่ากับ 5,229 ล้านบาท ลดลง 2,795 ล้านบาท หรือ
ร้อยละ 35 สาเหตุหลักจากรายได้ค่าไฟฟ้าของ บฟร. และ บฟข. ที่ลดลงจากอัตราค่าไฟ
ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 4,938 ล้านบาท
ลดลง 3,624 ล้านบาท หรือร้อยละ 42 โดยปัจจัยหลักของการลดลงของกำไรขั้นต้น
และกำไรจากการดำเนินงาน คือการลดลงของรายได้ค่าไฟฟ้า กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
และดอกเบี้ยรับของ บผฟ. และบริษัทย่อย
หน่วย:ล้านบาท
กำไรสุทธิ ปี 2550 กำไรสุทธิ ปี 2549
ก่อน FX หลัง FX ก่อน FX หลัง FX
บผฟ. (394) (394) (104) (104)
กลุ่มธุรกิจไอพีพี 7,735 7,804 4,866 5,418
กลุ่มธุรกิจเอสพีพี 882 939 436 598
กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าต่างประเทศ (197) (197) (157) (157)
กลุ่มธุรกิจอื่นๆ 255 250 258 261
รวม 8,281 8,402 5,299 6,016
หมายเหตุ:
- กำไรสุทธิภายใต้งบการเงินรวมตามวิธีส่วนได้เสียไม่ได้แยกผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
ของกิจการร่วมค้า
- ไอพีพี ประกอบด้วย บฟร. บฟข. บีแอลซีพี และจีพีจี
- เอสพีพี ประกอบด้วย จีอีซี (ไม่รวมจีพีจี) เออีพี เอพีบีพี เอ็กโก โคเจน ร้อยเอ็ด กรีน
- ต่างประเทศ ประกอบด้วย โคแนล เอ็นทีพีซี
- อื่นๆ ประกอบด้วย เอสโก เอ็กคอมธารา อเมสโก
สำหรับปี 2550 กลุ่ม บผฟ. มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับ บผฟ. และบริษัทย่อย
จำนวน 121 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ซึ่ง กลุ่ม บผฟ. มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
จำนวน 716 ล้านบาท ทั้งนี้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวน 70 ล้านบาท
เป็นตัวเลขทางบัญชี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีไทยซึ่งเกิดขึ้นจากผลต่างของ
การแปลงมูลค่าหนี้คงค้างสุทธิเฉพาะที่เป็นเงินตราสกุลต่างประเทศกลับมาเป็นเงินตราสกุลบาท
ณ วันสิ้นสุดงวดของบัญชีปัจจุบัน (วันที่ 31 ธันวาคม 2550) กับงวดก่อนหน้านี้
(วันที่ 31 ธันวาคม 2549)
หากไม่คำนึงถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับ บผฟ.และบริษัทย่อยแล้วใน
ปี 2550 บริษัทจะมีกำไรจำนวน 8,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 จำนวน 2,982 ล้านบาท
หรือคิดเป็นร้อยละ 56
นอกจากนี้หากไม่คำนึงถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับ บผฟ.และบริษัทย่อย
จำนวน 121 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 819 ล้านบาท ภาษีเงินได้จำนวน 634 ล้านบาท
และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่างๆ จำนวน 2,190 ล้านบาท กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย
ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่างๆ (EBITDA) ของกลุ่ม บผฟ. ปี 2550 จะเป็นจำนวน
11,924 ล้านบาท /1 เพิ่มขึ้น 2,187 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับกำไร
ของกลุ่ม บผฟ. ในปี 2549 จำนวน 9,737 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
จำนวน 716 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 1,166 ล้านบาท ภาษีเงินได้จำนวน 1,130
ล้านบาท และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่างๆ จำนวน 2,142 ล้านบาท
/1 หากไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อมราคา
และค่าตัดจำหน่ายต่างๆของกิจการร่วมค้า EBITDA จะเท่ากับ 14,934 ล้านบาท
อัตราส่วนแสดงความสามารถในการหากำไร (Profitability Ratio) มีดังนี้
- อัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับร้อยละ 47.80
- อัตรากำไรจากการดำเนินงานเท่ากับร้อยละ 45.14
- อัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 50.48
- อัตรากำไรสุทธิ (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนของ บผฟ.
และบริษัทย่อย) เท่ากับร้อยละ 49.75
- กำไรสุทธิ ต่อหุ้น เท่ากับ 15.96 บาท
- กำไรสุทธิ (ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนของ บผฟ.
และบริษัทย่อย) ต่อหุ้นเท่ากับ 15.73 บาท
- อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเท่ากับร้อยละ 21.89
อัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับร้อยละ 47.80 นั้นต่ำกว่าปี 2549 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 57.98
เนื่องจากกำไรสุทธิของ บฟร. และ บฟข. ลดลง สาเหตุหลักจากรายได้ค่าไฟฟ้าที่ลดลง
ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิ (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนของ บผฟ. และบริษัทย่อย)
เท่ากับร้อยละ 49.75 นั้นสูงกว่าปี 2549 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 36.29 สาเหตุหลักจากการรับรู้
ส่วนแบ่งกำไรในส่วนได้เสียจากกิจการร่วมค้าของ บีแอลซีพี และจีพีจี
4.2 การวิเคราะห์รายได้ ค่าใช้จ่าย และส่วนแบ่งผลกำไรในส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้า
ผลการดำเนินงานในปี 2550 ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนของ บผฟ.และ
บริษัทย่อย (Fx) และกำไรสุทธิของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (MI) เป็นดังนี้
- รายได้รวมของ บผฟ. และบริษัทย่อย มีจำนวนทั้งสิ้น 11,594 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ลดลงจำนวน 3,092 ล้านบาท หรือร้อยละ 21
- ค่าใช้จ่ายรวมของ บผฟ. และบริษัทย่อย มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 8,230 ล้านบาท
ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 906 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 10
สำหรับส่วนแบ่งผลกำไรในส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้า จำนวน 5,051 ล้านบาท
(รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 890 ล้านบาทแล้ว) เพิ่มขึ้น จำนวน 5,134 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีส่วนแบ่งผลขาดทุนจำนวน 83 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดแบ่ง
ตามกลุ่มธุรกิจดังต่อไปนี้
รายได้รวม ค่าใช้จ่ายรวม และส่วนแบ่งผลกำไร(ขาดทุน)จากกิจการร่วมค้า หน่วย : ล้านบาท
บผฟ. ไอพีพี เอสพีพี
2550 2549 2550 2549 2550 2549
รายได้รวม 497 400 7,910 11,053 2,186 2,231
ค่าใช้จ่ายรวม 891 504 4,813 6,134 1,822 1,791
กำไรก่อนส่วนแบ่งผลกำไร(ขาดทุน)
จากกิจการร่วมค้า (394) (104) 3,097 4,919 364 440
ส่วนแบ่งผลกำไร(ขาดทุน)
จากกิจการร่วมค้า - - 4,638 (52) 608 125
กำไรสุทธิก่อน Fx ของบริษัทย่อย และ MI (394) (104) 7,735 4,866 972 565
ต่างประเทศ อื่นๆ รวม
2550 2549 2550 2549 2550 2549
รายได้รวม - - 1,000 1,002 11,594 14,686
ค่าใช้จ่ายรวม - - 703 706 8,230 9,135
กำไรก่อนส่วนแบ่งผลกำไร(ขาดทุน)
จากกิจการร่วมค้า - - 297 296 3,364 5,551
ส่วนแบ่งผลกำไร(ขาดทุน)
จากกิจการร่วมค้า (197) (157) 2.29 1.5 5,051 (83)
กำไรสุทธิก่อน Fx ของบริษัทย่อย และ MI (197) (157) 300 298 8,416 5,468
(ยังมีต่อ)