เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา”  มุ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของไทย

ข่าวสารและความเคลื่อนไหว

เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา”  มุ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของไทย

14 พฤศจิกายน 2564

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่ปรับปรุงใหม่ พร้อมป้ายสื่อความหมายธรรมชาติในเส้นทาง และแอปพลิเคชันอ่างกา Virtual 360 องศา ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและเข้าใจถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวและร่วมตระหนักถึงบทบาทของทุกคนในการร่วมดูแลรักษาป่า โดยพิธีส่งมอบเส้นทางได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า “เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินภารกิจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนและนักท่องเที่ยว มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำ การอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างมีความหมาย และร่วมรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป”

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของไทย นอกจากเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นผืนป่าต้นน้ำที่มีระบบนิเวศ ที่หาได้ยากยิ่งรูปแบบหนึ่งของไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่มีคุณภาพเป็นต้นกำเนิดลำน้ำแม่กลาง ก่อนไหลลงสู่แม่ปิง และยังเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ผืนป่าอ่างกาจึงมีคุณค่าและความสำคัญต่อระบบนิเวศและประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การรักษาและส่งเสริมให้ผู้มาเยี่ยมเยือนมีความรู้ ความเข้าใจ ในคุณค่าของผืนป่าสำคัญแห่งนี้

“จากความสำคัญของพื้นที่และภารกิจดังกล่าว นำไปสู่การร่วมปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา จากเดิมที่ ได้สำรวจและออกแบบไว้เมื่อปี 2534 โดยปรับปรุงเป็นเส้นทางเดินไม้ยกระดับที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย มีมาตรฐาน เป็นมิตรและกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal design) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาป้ายสื่อความหมายในเส้นทาง 11 จุด เพื่อเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางธรรมชาติแก่ผู้มาเยือนตลอดเส้นทาง นอกจากนี้ ในยุคนิวนอมอลที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงธรรมชาติ มูลนิธิไทยรักษ์ป่ายังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “อ่างกา Virtual 360 องศา” เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศาผ่านระบบออนไลน์ด้วย” นายเทพรัตน์กล่าว 

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังเช่นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ร่วมมือกันพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จวบจนปัจจุบันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564-2569 ซึ่งมูลนิธิไทยรักษ์ป่าถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภารกิจของกรมอุทยานฯ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

“อ่างกาเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นป่าพรุภูเขาที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย มีความหลากหลายของพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตที่พบได้ยาก เนื่องจากสภาพพื้นที่หนาวตลอดทั้งปี และมีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของป่าดึกดำบรรพ์ จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดเรื่องราวความสำคัญและเสน่ห์ของผืนป่าให้กับนักท่องเที่ยวและผู้คนในวงกว้าง การปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ    อ่างกาให้มีความสมบูรณ์พร้อม โดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ควบคู่กับการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ที่มีความเปราะบาง จึงเป็นความร่วมมือที่สำคัญและเป็นต้นแบบการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน” นายธัญญากล่าว

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกามีลักษณะเป็นวงกลม ระยะทางรวม 320 เมตร แม้เป็นเส้นทางที่มีระยะสั้น แต่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตบริเวณนี้ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศเฉพาะถิ่น เป็นแหล่งพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า จึงเหมาะสำหรับการเดินศึกษาธรรมชาติในระยะสั้น แต่ได้เรียนรู้และดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างเต็มที่ อีกทั้งเส้นทางนี้อยู่ห่างจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยเพียง 50 เมตร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้ง 2 แห่งได้ภายในวันเดียวกัน




เกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า

นอกจากเส้นทางฯ อ่างกาแล้ว เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ยังได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญต่างๆ ได้แก่ ในจังหวัดเชียงใหม่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกมณฑาธาร อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ในปี 2558 เส้นทางฯ ยอดดอย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในปี 2561 เส้นทางฯ กิ่วแม่ป่าน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในปี 2562 และขยายไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เส้นทางฯ น้ำตกพรหมโลก กะโรม และอ้ายเขียว อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ในปี 2560 และปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาเส้นทางฯ น้ำตกกรุงชิง ในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง