เอ็กโก กรุ๊ป แชร์ประสบการณ์การเปิดเผยข้อมูล SDGs ในเวทีสัมมนาเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ” โดย ก.ล.ต.

ข่าวสารและความเคลื่อนไหว

เอ็กโก กรุ๊ป แชร์ประสบการณ์การเปิดเผยข้อมูล SDGs ในเวทีสัมมนาเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ” โดย ก.ล.ต.

31 ตุลาคม 2566

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในการดำเนินงาน และเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐานในรายงานประจำปี One Report ของบริษัทจดทะเบียน ชูเป้าหมาย SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ในงานสัมมนาเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG” หัวข้อ “การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน 56-1 One Report” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืนมากว่า 31 ปี ภายใต้การกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้บูรณาการเรื่องความยั่งยืน (ESG) ให้อยู่ในทุกกระบวนการการทำงาน โดยช่วงแรก เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดทำรายงาน CSR Report ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดทำรายงานทั้งแบบแสดงข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปี (56-2) ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาการรายงานเป็น Sustainability Report หรือรายงานความยั่งยืนฉบับแรก โดยแยกเล่ม คู่กับรายงานประจำปี ในปี 2561 จากนั้นได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในรูปแบบ One Report ภาคสมัครใจในปี 2563 หรือล่วงหน้า 1 ปี ก่อนข้อกำหนดของ ก.ล.ต. จะมีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหาใน One Report ครอบคลุมถึงการสนับสนุนและการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ตลอดจนอ้างอิงหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. รวมทั้งมาตรฐานและข้อกำหนดของการเขียนรายงานที่ถูกต้อง ได้แก่ GRI Standards และ Integrated Reporting โดยข้อมูลที่เปิดเผยใน One Report ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นในความถูกต้องของข้อมูล

 

จากเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 17 ข้อ เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนด 5 เป้าหมายหลักซึ่งสอดคล้องกับบริบทโดยตรงและกิจกรรมหลักของบริษัท ได้แก่ SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG7 การมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDG8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดย เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อร่วมบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด "Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth" ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • เป้าหมายระยะสั้นในปี 2573 (2030) ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% 
  • เป้าหมายระยะกลางในปี 2583 (2040) บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
  • เป้าหมายระยะยาวในปี 2593 (2050) บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

“การติดตาม ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ใน One Report ของเอ็กโก กรุ๊ป สะท้อนถึง การดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงมีส่วนช่วยประเมินผลการดำเนินงานภายในองค์กรเองและสามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแบบประเมินด้านความยั่งยืน เช่น ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices – DJSI) ซึ่งบริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก 3 ปีต่อเนื่อง สำหรับ “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนและมาตรฐานผลกระทบ SDG” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวัดและจัดการผลกระทบที่สำคัญของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเป้าหมาย SDGs ไว้ในกระบวนการตัดสินใจ การรายงาน และการบริหารจัดการภายในทุกระดับ เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินของบริษัทไปพร้อมกัน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป